วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

โครงการพระราชดำริกับความอยู่ดีกินดีของประชาชน


  พระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้าน เป็นที่มาของโครงการพระราชดำริที่ทรงเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ จนถึงปัจจุบัน
  โครงการอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำกะลาพอ ตามพระราชดำริ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่นำความเจริญและการพัฒนาไปสู่ชนบท ด้วยทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในตำบลเตราะบอนที่ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนน้ำในการอุปโภคบริโภค ทรงมีพระราชดำริว่าแม้ตำบลเตราะบอนจะเป็นตำบลเล็ก ๆ มีราษฎรอาศัยอยู่ไม่มาก ไม่คุ้มค่าการลงทุนในแง่เศรษฐศาสตร์ แต่หากโครงการแล้วเสร็จและสามารถลดความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนลง ก็มิอาจประเมินค่าได้
  ด้วยพระเมตตาที่เต็มเปี่ยมอยู่ในพระราชหฤทัย จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาหาข้อมูลเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่ลำห้วยกะลาพอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ ๕๒๒,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และสร้างฝายทดน้ำบริเวณบ้านกะลาพอ ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี เพื่อรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำกะลาพอไปช่วยเหลือการทำนาทำสวนของราษฎรในหมู่บ้านกะลาพอ บ้านกะลูแป บ้านฮูแตกอแล บ้านลือดังและบ้านโคกหม้อ รวม ๕ หมู่บ้าน รวมทั้งได้สร้างระบบส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ พร้อมถังเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ ด้วย
  หลังจากที่โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ส่วนราชการต่างๆ ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชล้มลุกที่มีราคาดีในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า การให้ความรู้ในการเลี้ยงปลาดุกและปลานิล การปลูกผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง ซึ่งทำรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น นับว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำกะลาพอได้ชุบชีวิตของราษฎรให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
  

บทความเฉลิมพระเกียรติ


การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา



เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในชนบทหรือในเมือง ประกอบอาชีพใด หรืออยู่ในสถานะใด ก็สามารถนำหลักคิดนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าได้เหมือนกันทุกคน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สามารถดำเนินการหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมุ่งลงสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้ขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง โดยปีนี้มีเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน 9,999 แห่ง
แม้ว่าหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการจะมุ่งเน้นการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอในการปลูกฝังและเสริมสร้างอุปนิสัย อยู่อย่างพอเพียง ได้ลึกซึ้ง เพื่อให้ผู้เรียนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงได้
สำหรับนโยบายขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาและประเมินให้สถานศึกษาในสังกัดจำนวน 9,999 แห่ง เป็นสถานศึกษาพอเพียงในปี 2554 และให้สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงไปสู่การจัดการศึกษาภายในปี 2556 โดยเฉพาะการยกระดับโรงเรียนไปสู่ ศูนย์การเรียนรู้ ที่สามารถเป็นแบบอย่างและเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรวมถึงสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้อย่างน้อย 1 ศูนย์ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา     
สำหรับการพัฒนาสถานศึกษาให้สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการศึกษานั้น สามารถแบ่งระดับคุณภาพของการพัฒนาสถานศึกษาได้ 4 ระดับ คือ
สถานศึกษาทั่วไป : สถานศึกษาที่เริ่มน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการสถานศึกษา ตั้งแต่การบริหารสถานศึกษา การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดสภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
สถานศึกษาพอเพียง : สถานศึกษาทั่วไปที่ผ่านการประเมินสถานศึกษาพอเพียงซึ่งเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามเกณฑ์ประเมินสถานศึกษาพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ        สถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ : สถานศึกษาพอเพียงที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ พร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานของสถานศึกษาอื่นๆ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดการสถานศึกษา
ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้และพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาทั่วไปที่ต้องการพัฒนาสู่ความเป็นสถานศึกษาพอเพียง
ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษานั้น  สพฐ. มุ่งปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยเรียนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ค่านิยม  เอกลักษณ์และความเป็นไทย สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานไว้ให้เป็นหลักยึดถือปฏิบัติเพื่อความสุขในชีวิตของคนไทยทุกคน

บทความเทิดพระเกียรติ


เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่นานาชาติให้การยอมรับ


นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๖๕ ปี พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่น เพื่อบำบัดความทุกข์ยากและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์อย่างต่อเนื่องเสมอมา และหนึ่งในนั้นที่สามารถเอื้อต่อทุกกลุ่มชน ทุกหมู่เหล่าและระดับชั้นตลอดถึงความอยู่รอดของประเทศชาติและสังคมไทยในภาวะกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นก็คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

บทความเฉลิมพระเกียรติ 2


นับเป็นเวลาเนิ่นนานกว่า ทศวรรษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทุ่มเทพระองค์เพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกร ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นในปี 2554 อันเป็นปีมหามงคลที่พระองค์เจริญพระชนมพรรษา รอบ 84 พรรษา จึงเป็นอีกวาระหนึ่งที่คนไทยทั้งประเทศต่างร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่องค์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการรับพระราชดำริและประสานงานในการสนองพระราชดำริ เพื่อน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ จำนวนมากกว่า 4,000 โครงการ เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่ประชาชนนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และในปีมหามงคลนี้เองสำนักงานกปร.จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติ “84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ขึ้น โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการสนองพระราชดำริหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงบประมาณ โดยมีสำนักงานกปร.เป็นแกนกลางในการจัดกิจกรรม
โครงการนี้จะดำเนินกิจกรรมหลักด้วยการจัด นิทรรศการสัญจร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงให้คนไทยได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ แต่ยังต้องการนำเสนอโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น ด้านดิน น้ำ อาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น
โครงการนิทรรศการสัญจรนี้จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตลอดปี 2554 จำนวนทั้งสิ้น 11 ครั้ง ใน 11 จังหวัด โดยพื้นที่จัดงานจะอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งจะจัดขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพื้นที่การจัดนิทรรศการจะแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ประกอบด้วย
ส่วนจัดแสดงพระอัจฉริยภาพในการทรงงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายน้ำด้วยการจำลองระบบนิเวศเสมือนจริง
ส่วนห้องฉายภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ อันเป็นเรื่องราวพระราชกรณียกิจในการเสด็จในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แสงดพระอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงและยั่งยืนจวบจนปัจจุบัน
ส่วนแสดงรางวัลพระราชทานการประกวดผลงานเศรษฐกิจพอเพียงจากทั่วประเทศ พร้อมด้วยเนื้อหาและวิธีการบริหารจัดการในพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นิทรรศการสัญจรนี้เป็นการย้ำเตือนให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ที่ทรงทุ่มเททั้งพระวรกาย พระสติปัญญาปฏิบัติภารกิจอย่างตรากตรำ โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทนนอกเสียจากประโยชน์สุขแห่งราษฎรของพระองค์ ด้วยการที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงความยากจนของราษฎรให้มาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีมีอยู่มีกินเลี้ยงตนเองได้อย่างมั่นคง ไปพร้อมกับการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจ ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดความรักสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะนำความสงบสุขมาสู่คนไทยและสังคมไทยอย่างยั่งยืนนั่นเอง

โครงการพระราชดำริทฤษฎีใหม่


โครงการพระราชดำริทฤษฎีใหม่


จ.ส.ต.พงษ์สถิตย์ อรอินทร์/นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
วันนี้ขอเสนอบทความประชาสัมพันธ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
โครงการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร หรือโครงการทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ประสงค์จะช่วยให้ประชาชนในชนบทได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในลักษณะ พอมีพอกิน โดยได้เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นแห่งแรก เมือปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยโครงการทฤษฎีใหม่นั้น มีแนวทางให้เกษตรกรปฏิบัติด้วยการแบ่งพื้นที่ถือครองทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรกรส่วนใหญ่แต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ประมาณ ๑๐ – ๑๕ ไร่ ด้วยการแบ่งที่ที่มีอยู่เป็น ๓ ส่วน โดยส่วนแรกร้อยละ ๓๐ หรือ ๓ ไร่ ให้ขุดเป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้ในการเพาะปลูกพืชผัก ต้นไม้ต่างๆ รวมทั้งใช้แหล่งเป็นเพาะเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ สำหรับนำไปบริโภคหรือขายเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว สำหรับส่วนที่สองให้ใช้พื้นที่ดินร้อยละ ๖๐ หรือประมาณ ๑๐ ไร่ ใช้เป็นพื้นที่การเกษตรด้วยการทำนาข้าว ๕ ไร่ และอีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่หรือพืชสวน ทั้งนี้ตามแต่สภาพของผืนดินรวมทั้งสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่อีก ๕ ไร่
นอกจากนี้ พื้นที่อีกร้อยละ ๑๐ ในส่วนที่สาม ซึ่งคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ให้เกษตรกรจัดไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ทำที่สำหรับเป็นทางเดินหรือใช้เป็นเส้นทางสำหรับยานพาหนะต่างๆ ในการเข้า – ออก พื้นที่และใช้พื้นที่ที่ยังเหลือสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๑๕ ไร่ แล้วแบ่งเฉลี่ยตามสัดส่วนดังกล่าว
โดยทฤษฎีใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ อันเป็นหลักสำคัญยิ่งในการดำเนินการ คือวิธีการสามารถที่ใช้ปฏิบัติได้กับเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินที่มีพื้นที่จำนวนไม่เกิน ๑๕ ไร่ เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรได้มีความพอเพียงในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในลักษณะ พอมีพอกิน ซึ่งทฤษฎีใหม่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดจากพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งในพระราชดำริ และการระดมสรรพกำลังทั้งปวง เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ชาวไทยที่ต่างได้นำแนวพระราชดำรินี้ไปปฏิบัติและประสบผลสำเร็จ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนดั่งปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
-------------------------
 จ.ส.ต.พงษ์สถิตย์ อรอินทร์/นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
ส.ปชส.ยโสธร/เรียบเรียง