วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทความเฉลิมพระเกียรติ


การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา



เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในชนบทหรือในเมือง ประกอบอาชีพใด หรืออยู่ในสถานะใด ก็สามารถนำหลักคิดนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าได้เหมือนกันทุกคน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สามารถดำเนินการหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมุ่งลงสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้ขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง โดยปีนี้มีเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน 9,999 แห่ง
แม้ว่าหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการจะมุ่งเน้นการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอในการปลูกฝังและเสริมสร้างอุปนิสัย อยู่อย่างพอเพียง ได้ลึกซึ้ง เพื่อให้ผู้เรียนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงได้
สำหรับนโยบายขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาและประเมินให้สถานศึกษาในสังกัดจำนวน 9,999 แห่ง เป็นสถานศึกษาพอเพียงในปี 2554 และให้สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงไปสู่การจัดการศึกษาภายในปี 2556 โดยเฉพาะการยกระดับโรงเรียนไปสู่ ศูนย์การเรียนรู้ ที่สามารถเป็นแบบอย่างและเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรวมถึงสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้อย่างน้อย 1 ศูนย์ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา     
สำหรับการพัฒนาสถานศึกษาให้สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการศึกษานั้น สามารถแบ่งระดับคุณภาพของการพัฒนาสถานศึกษาได้ 4 ระดับ คือ
สถานศึกษาทั่วไป : สถานศึกษาที่เริ่มน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการสถานศึกษา ตั้งแต่การบริหารสถานศึกษา การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การจัดสภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
สถานศึกษาพอเพียง : สถานศึกษาทั่วไปที่ผ่านการประเมินสถานศึกษาพอเพียงซึ่งเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามเกณฑ์ประเมินสถานศึกษาพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ        สถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ : สถานศึกษาพอเพียงที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ พร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานของสถานศึกษาอื่นๆ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดการสถานศึกษา
ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้และพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาทั่วไปที่ต้องการพัฒนาสู่ความเป็นสถานศึกษาพอเพียง
ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษานั้น  สพฐ. มุ่งปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยเรียนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ค่านิยม  เอกลักษณ์และความเป็นไทย สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานไว้ให้เป็นหลักยึดถือปฏิบัติเพื่อความสุขในชีวิตของคนไทยทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น